การประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัด
27 กันยายน 2567

          สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมอนามัย ร่วมกันจัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัด เมื่อวันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2567 โดยมีนายณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธาน และนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นประธานร่วม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด ณ ห้องประชุม 901 ชั้น 9 อาคาร OSSC สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

          สืบเนื่องจากมติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัด เพื่อให้แต่ละจังหวัดมีศูนย์กลางการบริหารจัดการด้านอาหารในทุกมิติอย่างสมดุล และร่วมกันดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ทั้งนี้ ประธานกรรมการอาหารแห่งชาติ (รองนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ได้ลงนามในคำสั่งคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ที่ 1/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัด สั่ง ณ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 

          การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัดในเบื้องต้น เพื่อสื่อสารและทำความเข้าใจให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการ พร้อมด้วยเลขานุการร่วม (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด และท้องถิ่นจังหวัด) ทุกจังหวัด รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 คำสั่งคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ที่ 1/2567 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัด แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) และกลไกการดำเนินงานในระดับจังหวัดที่เชื่อมโยงระดับชาติ ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอาหาร ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ด้านอาหารศึกษา และด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง ด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และผู้บริโภค มีพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม” และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals, SDGs) 

 

คลังรูปภาพ